อาการแพ้ฟิลเลอร์และฟิลเลอร์อักเสบ สังเกตและป้องกันอย่างไร ?

เข้าใจเกี่ยวกับอาการแพ้ฟิลเลอร์ ก่อนตัดสินใจฉีด

ส่องกระจกครั้งใด ก็รู้สึกไม่มั่นใจทุกครั้ง เพราะว่าใบหน้ามีริ้วรอยก่อนวัย ไหนจะร่องแก้มที่ลึกขึ้น หรือใต้ตาที่หมองคล้ำ อยากจะฉีดฟิลเลอร์แต่ก็ไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

แต่ในความจริงแล้ว อาการแพ้ฟิลเลอร์เกิดได้ยากมาก ยิ่งถ้าฉีดฟิลเลอร์โดยใช้สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronic Acid) ที่เป็นของแท้ และดำเนินการฉีดโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญการสูง แต่เพื่อเพิ่มความมั่นใจ และคลายความสงสัยให้แก่คุณ เราจะขอพาไปทำความรู้จักกับอาการแพ้ฟิลเลอร์ว่าเป็นอย่างไรกันให้มากขึ้น พร้อมวิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงการแพ้ฟิลเลอร์มาบอกกัน

อาการแพ้ฟิลเลอร์คืออะไร ต่างจากผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์อย่างไร ?

อาการแพ้ฟิลเลอร์

แพ้ฟิลเลอร์ คือปฏิกิริยาทางร่างกายที่เกิดการต่อต้านสารฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไป โดยมักเกิดขึ้นกับการฉีดฟิลเลอร์ปลอมที่มีส่วนประกอบของซิลิโคนเหลว หรือเกิดในผู้ที่มีภาวะภูมิไว จึงมีอาการแพ้ง่าย โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ

  • อาการแพ้ฟิลเลอร์แบบ Immediate Hypersensitivity

เป็นอาการแพ้ฟิลเลอร์ที่เกิดกับผู้ที่มีภาวะภูมิไวเกิน โดยจะเกิดหลังจากฉีดฟิลเลอร์ไปแล้ว ภายในระยะเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมง ซึ่งมีอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจน คือ มีอาการคัน ผื่นแดง ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง จะหน้าบวม หายใจติดขัด หรือเสี่ยงต่อการหยุดหายใจได้

อาการแพ้แบบ Immediate Hypersensitivity มักมีสาเหตุมาจากการแพ้ยาชาที่ผสมอยู่ในเนื้อฟิลเลอร์ ดังนั้นผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีด หรือทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์ที่มีส่วนผสมของยาชาไปเลย

  • อาการแพ้ฟิลเลอร์แบบ Delayed Hypersensitivity

เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 24-72 ชั่วโมง หรือหลังจากฉีดไปแล้วนาน 6 เดือนจนถึงปี โดยจะมีอาการเป็นก้อนนูน แดงอักเสบ สัมผัสแล้วรู้สึกเจ็บ หรือมีผื่นคันคล้ายลมพิษ

อาการแพ้แบบ Delayed Hypersensitivity จะเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยเฉพาะกับการฉีดฟิลเลอร์ที่เป็นสารไฮยาลูรอนิกแอซิด ดังนั้นก่อนการตัดสินใจฉีดจึงควรสอบถามแพทย์ถึงส่วนประกอบของฟิลเลอร์ให้ชัดเจน

ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์

ผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์จะแตกต่างจากการแพ้ฟิลเลอร์ เนื่องจากผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยจะแสดงให้เห็นเป็นรอยช้ำ รอยเขียวจากเข็ม หรือมีอาการบวมแดงในจุดที่ฉีด มักเกิดหลังจากฉีดไปแล้ว 3 วันแรก และต่อจากนั้น 5-7 วัน อาการเหล่านี้ก็จะหายไป จนในที่สุดจะยุบและเข้าที่ภายใน 14 วัน

ฉีดฟิลเลอร์แท้ลดโอกาสเกิดอาการแพ้ฟิลเลอร์ได้

หากมีอาการแพ้ฟิลเลอร์ต้องรักษาอย่างไร?

สำหรับแนวทางในการรักษาผู้ที่มีอาการแพ้ฟิลเลอร์ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีตามระดับความรุนแรงดังต่อไปนี้

  • รับประทานยา

ผู้ที่มีอาการแพ้เพียงเล็กน้อย สามารถรับประทานยา ไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าเชื้อ ยาลดการอักเสบ เพื่อลดอาการแพ้ ลดบวมได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การแนะนำและจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น

  • ฉีดสลายฟิลเลอร์

เป็นการฉีดเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส ( Hyaluronidase : HYAL) เข้าไปย่อยสลายฟิลเลอร์ แต่ใช้ได้เฉพาะกับการรักษาอาการแพ้ ที่เกิดจากการฉีดฟิลเลอร์แท้เท่านั้น

  • ขูดฟิลเลอร์

เป็นการขูดเอาฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไปออก มักใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้หลังจากการฉีดฟิลเลอร์ที่เป็นซิลิโคนหรือพาราฟิน ซึ่งไม่มีสารตัวใดที่เข้าไปสลายฟิลเลอร์เหล่านี้ได้

  • ผ่าตัดเอาฟิลเลอร์ออก

ในผู้ที่ฉีดฟิลเลอร์ประเภทซิลิโคนแล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เป็นก้อนขนาดใหญ่และแข็งมาก จนการขูดฟิลเลอร์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาฟิลเลอร์ออก ซึ่งควรปรึกษาและรับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น เพราะเสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนหลอดเลือดใกล้เคียง

ฟิลเลอร์อักเสบอันตรายที่ควรรู้

อีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้หลังจากฉีดฟิลเลอร์ คืออาการฟิลเลอร์อักเสบ ซึ่งเป็นอาการที่ต้องคอยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยมักเกิดจากการติดเชื้อของผิวหนังบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ปวดบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์มากกว่าปกติ
  • มีอาการบวมมากขึ้น เมื่อกดบริเวณที่ฉีดแล้วรู้สึกเจ็บ
  • เกิดรอยแดงหรือคล้ำบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ชัดมากขึ้นจนผิดปกติ
  • รู้สึกแสบร้อนอย่างรุนแรงในบริเวณผิวหนังที่ฉีด

หากหลังจากฉีดฟิลเลอร์แล้ว พบอาการเหล่านี้ แสดงว่ามีภาวะติดเชื้อในบริเวณที่ฉีด จนทำให้เกิดการอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับยาแก้ปวด ลดอักเสบไปรับประทานเพิ่ม หรือถ้าหากมีอาการรุนแรงจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมทันที

ใครบ้างที่ไม่เหมาะกับการฉีดฟิลเลอร์ ?

ผู้ที่มีอาการแพ้ฟิลเลอร์

หากมีอาการแพ้สารไฮยาลูรอนิกแอซิด ไม่ควรฉีดฟิลเลอร์อย่างเด็ดขาด รวมถึงถ้ามีอาการแพ้ยาชา ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจฉีด หรือควรฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่มีส่วนผสมของยาชาตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น

ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์

สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ยังไม่ควรฉีดฟิลเลอร์ เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายของผลข้างเคียงต่าง ๆ แต่ถ้าอยู่ในช่วงของการให้นมบุตร ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจฉีด

ผู้ที่มีเลือดออกแล้วหยุดยากหรือรับประทานยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

ในส่วนของผู้ที่มีภาวะเลือดออกแล้วหยุดยาก หรือมีแผลฟกช้ำง่าย ไม่ว่าจะเป็นจากโรคประจำตัว หรือการรับประทานยา เช่น แอสไพริน (ASA), ยาแก้อักเสบปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (NSAIDS), ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด (Warfarin), วิตามินอี (Vitamin E), สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) เป็นต้น จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว และหยุดยาก่อนฉีดฟิลเลอร์

ผู้ที่มีอาการโรคผิวหนัง

หากมีอาการโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง เช่น เริม หรืองูสวัด ควรหลีกเลี่ยงการฉีดฟิลเลอร์ เพราะอาจส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้นได้

วิธีลดความเสี่ยงจากการแพ้ฟิลเลอร์

ฉีดฟิลเลอร์แท้

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักไว้เสมอ หากไม่อยากมีอาการแพ้หรือเกิดการอักเสบจากการฉีดฟิลเลอร์ คือควรเลือกฉีดฟิลเลอร์แท้ที่ทำจากสารไฮยาลูรอนิกแอซิดเท่านั้น อีกทั้งยังควรเลือกใช้ฟิลเลอร์จากแบรนด์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ก่อนการฉีดทุกครั้ง ควรให้แพทย์แกะกล่องฟิลเลอร์ให้ดู เพื่อเช็กเลขล็อต วันเดือนปีที่ผลิต รวมไปถึงวันหมดอายุ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่เกิดอันตรายอย่างแน่นอน

ฉีดฟิลเลอร์โดยแพทย์ชำนาญการ

ควรเลือกฉีดฟิลเลอร์โดยแพทย์ชำนาญการ ที่มีเทคนิคการฉีดที่ปลอดภัย เพื่อลดโอกาสที่จะโดนหลอดเลือดแดง ที่จะนำไปสู่อาการแพ้และอักเสบหลังจากการฉีดได้

ฉีดฟิลเลอร์ในคลินิกที่ได้มาตรฐาน

ควรเลือกฉีดฟิลเลอร์กับคลินิกที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือทันสมัย และสะอาดปราศจากเชื้อโรค เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ จนส่งผลให้เกิดภาวะฟิลเลอร์อักเสบนั่นเอง

ดูแลตัวเองตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด

หลังจากฉีดฟิลเลอร์แล้ว ควรดูแลตัวเองตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงหรือการแพ้ฟิลเลอร์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยคงสภาพของฟิลเลอร์ได้นานขึ้น โดยมีสิ่งที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดรับประทานอาหารหมักดอง อาหารหวานจัด เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้
  • งดรับประทานอาหารปิ้งย่างหรือว่าชาบู ที่ต้องนั่งอยู่หน้าเตาร้อน ๆ เป็นเวลานาน
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากในบุหรี่มีสารที่กระตุ้นการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งจะส่งผลให้หายบวมช้า หรือทำให้ผลการรักษาคงอยู่ได้สั้นลง

ทั้งหมดนี้ คงช่วยคลายความสงสัยที่ว่า ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา และส่วนต่าง ๆ บนใบหน้า อันตรายไหม และทำให้ตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์กันได้ง่ายขึ้น และสำหรับใครที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์อย่างปลอดภัย ที่ Jairuk Clinic มีบริการฉีดฟิลเลอร์ โดยทีมแพทย์ชำนาญการ ด้วยฟิลเลอร์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน อย. และสากล สนใจนัดหมายปรึกษาแพทย์ได้ที่ โทร : 062-848-7799, 093-636-5153 และ 062-747-1222

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Are You Allergic to Fillers? Discover the Shocking Signs Now!. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 จาก https://facesconsent.com/blog/are-you-allergic-to-fillers-discover-the-shocking-signs-now/
  2. How to spot dermal filler complications and what to do about it? by Dr Beata Cybulska. สืบค้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 จาก https://safetyinbeauty.com/how-to-spot-dermal-filler-complications-and-what-to-do-about-it-by-dr-beata-cybulska/
เรื่องล่าสุด